วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

การขยายตัวของมหายานในอินเดีย

พุทธศาสนามหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระนาคารชุน พุทธศาสนาในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ 11

บันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และ ฑราวิฑ ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศและทมิฬนาดู ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักรคังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และ หรรษวรรธนะ เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็กๆขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุตให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา
จนกระทั่ง ยุคจักรวรรดิปาละในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิมและภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมื่อจักรวรรดิปาละปกรองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง


ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละหันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. 1736 เมื่อชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. 1742 เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่พิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี


มหายานสองสายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย 
พระพุทธศาสนามหายานในอินเดีย สามารถแบ่งเป็นนิกายใหญ่ๆ ได้ 2 นิกาย คือ  นิกายมาธยมิกะ และนิกายโยคาจาร ทั้งสองนิกายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการว่า เป็นนิกายของฝ่ายมหายานที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย และต่างก็มีปรัชญาคำสอนอันลึกซึ้งที่ชวนให้นักวิชาการชาวตะวันตกทั้งหลาย ทุ่มเทศึกษากันอย่างจริงจัง  

1. นิกายมาธยมิกะ (Madhyamika)
คำว่า มาธยมิกะ แปลว่า ทางสายกลาง ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมุ่งเน้นคำสอนเรื่องทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เป็นหลักสำคัญ แต่ทางสายกลางตามแนวคิดของนิกายมาธยมิกะ อาจห่างไกลจากสิ่งที่เราเข้าใจ นิกายมาธยมิกะถือทางสายกลางระหว่างความมีกับความไม่มี ความเที่ยงกับความไม่เที่ยง เป็นต้น กล่าวสั้นๆ นิกายนี้แสดงว่าโลกนี้มีจริงก็ไม่ใช่ ไม่มีจริงก็ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นปฏิจจสมุปบาท (สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดำเนินไปตามเหตุปัจจัย)
         
น่าสังเกตว่าทางสายกลางตามคำสอนดั้งเดิม มีความหมายไปในเชิงจริยธรรมหรือเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติ ในขณะที่ทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะกลับมีความหมายในเชิงอภิปรัชญา ซึ่งเป็นแนวคิดอันลึกซึ้งที่ดูจะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเท่าใดนัก
 
กล่าวกันว่า นิกายมาธยมิกะเป็นนิกายแรกสุดที่แยกตัวออกมาจากมหายานกลุ่มดั้งเดิมที่มีมา ก่อนหน้านั้น โดยมีท่านนาคารชุน (Nagarajuna) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 ท่านนาคารชุนได้อรรถาธิบายพุทธมติด้วยระบบวิภาษวิธี (Dialectic) หรือวิธีโต้แย้งกันทาง  ความคิดเพื่อให้เข้าถึงความจริงในปรัชญานั้น จนสามารถกำจัดปรวาทีฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ไปทุกแห่งหน วิภาษวิธีของท่านนาคารชุน ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในวงการนักปราชญ์ทาง
พระพุทธศาสนา ทำให้มีนักคิดที่ตามมาในภายหลังยึดถือวิธีการของท่านเป็นแบบอย่างอีกมากมาย

ท่านนาคารชุนได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือ คัมภีร์มัธยมกการิกา (Madhyamakakrika) ซึ่งได้รวบรวมปรัชญามาธยมิกไว้อย่างเป็นระเบียบ สอนเรื่องศูนยตา (Sunyata) ว่าเป็นความแท้จริงขั้นสุดท้าย (อันติมสัจจะ) และเพราะเหตุที่นิกายนี้ ยึดถือศูนยตาว่าเป็นหลักสำคัญของตนด้วย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายศูนยวาท

คัมภีร์มัธยมกการิกายังได้กล่าวอีกว่า สัจจะหรือความจริงมี 2 ชนิด คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ในสัจจะทั้ง 2 นี้ สมมติสัจจะ หมายถึง อวิชชาหรือโมหะซึ่งปิดบังความเป็นจริงจนทำให้เราเข้าใจผิดไปว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นมีแก่นสาร ส่วนปรมัตถสัจจะ หมายถึง การหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ สังขารทั้งหลายไม่มีอยู่จริง เปรียบเหมือนภาพมายา แม้แต่ความหลุดพ้นก็เป็นสิ่งสมมติ เมื่อยังละสมมติสัจจะไม่ได้ก็ยังบรรลุปรมัตถสัจจะ    ไม่ได้ จากคำอธิบายตรงนี้ เราจึงตีความได้ว่า ความจริงแท้ที่มาธยมิกะกล่าวถึงนั้น ไม่มีแก่นสารสาระใดๆ แต่เป็นอิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากแก่นสารทั้งปวง 

หลักการของมาธยมิกะข้างต้น ดูจะเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยการโต้แย้งเชิงเหตุผลที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง แต่อย่างไรก็ตามบรรดานักปราชญ์ชาวตะวันตก ยุคหลังที่ได้อ่านคัมภีร์ของนาคารชุนแล้ว ต่างก็ต้องยอมรับว่า ท่านนาคารชุนเป็นนักตรรกวิทยา ที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ไม่มีปราชญ์ชาวตะวันตกผู้ใดจะเทียบได้ แม้แต่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเองต่างก็ยอมรับในอัจฉริยภาพด้านพุทธปรัชญาของ ท่าน และยกย่องท่านไว้อย่างสูงสุดในฐานะ "พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง" ในบั้นปลายชีวิต ท่านนาคารชุนดับขันธ์ลง ณ มหาวิหารแห่งหนึ่งที่เมืองอมราวดี ในแคว้นอันธระ ทักษิณาบถ ปัจจุบันนี้ในอินเดียทางใต้ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งมีซากพระสถูปเจดีย์ชื่อว่า "นาคารชุนโกณฑะ"

2. นิกายโยคาจาร (Yogacara)
นิกายโยคาจารเป็นนิกายสำคัญที่เป็นคู่ปรับของนิกายมาธยมิกะ โดยมีท่านไมเตรยนาถ (Maitreya-natha) เป็นคณาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดนิกายในปลายพุทธศตวรรษที่ 8 และได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม เช่น อภิสมยาลังการะ มหายานสูตราลังการะ เป็นต้น แต่บางตำนานบอกว่า โยคาจารเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.700 เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณปี พ.ศ.900 มีพื้นฐานทฤษฎีอยู่บนระบบการตีความเนื้อหาคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น สันธินิรโมจนสูตร และลังกาวตารสูตร เป็นต้น

นิกายโยคาจารเจริญถึงขีดสุดในสมัยของท่านอสังคะ (Asanga) และท่านวสุพันธุ (Vasubandhu) สองพี่น้องผู้แต่งตำราออกเผยแผ่มากมาย โดยท่านอสังคะพี่ชายเป็นศิษย์คนสำคัญของท่านไมเตรยนาถ เป็นผู้อธิบายปรัชญาโยคาจารอย่างเป็นระบบต่อจากท่านไมเตรยนาถ   ส่วนน้องชายคือวสุพันธุแต่เดิมบวชเรียนอยู่ในนิกายสรวาสติวาท หรือไวภาษิกะ มาภายหลังจึงหันมานับถือมหายานนิกายโยคาจารตามพี่ชาย 

อสังคะเรียกชื่อนิกายฝ่ายตนว่า นิกายโยคาจาร (Yogacara) ส่วนวสุพันธุเรียกว่านิกายวิชญาณวาท (Vijananavada) ที่ได้ชื่อว่าโยคาจารนั้นก็เพราะใช้วิธีบำเพ็ญโยคะหรือการฝึกจิตเพื่อบรรลุ โพธิ (การรู้แจ้งความจริง) แต่ที่ชื่อว่า วิชญาณวาท ก็เพราะยึดถือจิตตมาตระหรือวิชญาปติมาตร (Vijaaptimatra) หมายถึงความไม่มีอะไรนอกจากวิญญาณ (Thought-Only, or Mind-Only) ว่าเป็นความจริงแท้ขั้นสูงสุด พูดง่ายๆ ว่า ยอมรับเฉพาะจิตหรือวิญญาณเพียงประการเดียวว่าเป็นจริง สิ่งต่างๆ นอกนั้นเป็นเพียงความคิดหรืออาการกิริยาของจิต ดังนั้นโยคาจารจึงใช้ปรัชญาไปในทางปฏิบัติ ส่วนวิชญาณวาทใช้ปรัชญาไปในทางเก็งความจริง 

นอกจากนี้ โยคาจารยังมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ธรรมลักษณะ ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญที่ลักษณะของธรรม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โยคาจารก็ยังมีหลักการสำคัญอยู่ที่การยอมรับจิตว่าเป็นความจริงเดียวที่มี อยู่ ไม่มีความจริงอื่นนอกจากจิต

นิกายมาธยมิกะกับนิกายโยคาจารต่างเป็นคู่ปรับกันมาทุกยุคทุกสมัย เหมือนอย่างขมิ้นกับปูน ถึงขนาดห้ามสานุศิษย์ไม่ให้คบค้าสมาคมกัน มิให้ร่วมสังฆกรรม ข้อสำคัญที่ขัดแย้ง กันก็คือเรื่องสวลักษณะหรือสวภาวะ คือลักษณะหรือภาวะของตนเอง นิกายมาธยมิกะถือว่าโดยสมมติสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะในตัวของมันเอง เป็นมายาทั้งหมด และโดยปรมัตถสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นศูนย ตา  
                                             
ฝ่ายนิกายโยคาจารถือว่า โดยสมมติสัจจะแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นมายาไปทั้งหมดไม่ได้ แม้มองจากภายนอกจะไม่ใช่ของจริง แต่พีชะที่มาจากอาลยวิญญาณจนเป็นบ่อเกิด ของภาพเหล่านั้นมีสวลักษณะอยู่ด้วย และโดยปรมัตถสัจจะก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด ยกตัวอย่าง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสวลักษณะอยู่ภายในตัวของมันเองแล้ว คนเราทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวเองได้กระทำไว้ ถ้าไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะอยู่แล้วใครเล่าจะเป็นคนคอยรับบุญรับบาป นายปอทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็กลายเป็นคนละคนไปแล้วไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวก่อไว้ เหมือนกับปลูกมะละกอ ถ้าไม่มีสวลักษณะอยู่จริงก็กลายเป็นมะม่วงมะพร้าวไป 

สรุปแล้วนิกายทั้ง 2 ตีความหมายให้คำนิยามสวลักษณะแตกต่างกันและดูเหมือนจะแย้งกันแบบสุดโต่ง ทั้งที่จริงแล้วจุดประสงค์ของทั้ง 2 นิกายเหมือนกัน คือ เพื่อความหลุดพ้น แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันเป็นเพียงแนวทางการนำเสนอเท่านั้น โดยโยคาจารถือว่ามีจิตอยู่จริงและเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว สวลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังรักษาคุณสมบัติเดิมเอาไว้ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยุ่งยากซับซ้อนในโลก โดยหันมาดูที่กระแสจิตของตนและบังคับควบคุม 

ส่วนมาธยมิกะถือว่าโดยที่สุดแล้วไม่มีอะไรอยู่เลย จึงยืนยันว่า ขึ้นชื่อว่าสวลักษณะแล้วจะต้องเที่ยงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งยังเสนอว่า ต้องพยายามทำตัวเองให้หลุดพ้นโดยไม่ยึดถืออะไรเลย และจุดเน้นของมาธยมิกะไม่ได้เพียงว่าไม่ยึดถืออะไรเลยเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลถึงขนาดกล่าวว่า "โดยที่สุดแล้ว ความว่างก็ไม่มี (Emptiness of Emptiness)" ฝ่ายมาธยมิกะจึงประณามพวกโยคาจารว่าเป็นพวกสัสสตวาท (ความมีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร) ฝ่ายโยคาจารก็ประณามพวกมาธยมิกะว่าเป็นพวกนัตถิกวาท (ความไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเป็นสาระได้) ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดความขัดแย้งจนหาจุดจบไม่ได้ ทั้งสองนิกายนี้ ก็เลยเข้าข่ายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปทั้งคู่ตามหลักคำสอนฝ่าย เถรวาท   
         
อันที่จริง โยคาจารเห็นด้วยกับมาธยมิกะเฉพาะเรื่องความไม่มีอยู่จริงของวัตถุหรืออารมณ์ ภายนอก แต่เรื่องที่เห็นว่าจิตไม่มีจริงหรือไม่มีอยู่จริงนั้น โยคาจารไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะถือว่าทรรศนะของมาธยมิกะที่ปฏิเสธว่าสูญทั้งหมดเท่ากับเป็นความเห็นผิด อย่างไม่น่าให้อภัย เพราะโยคาจารเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดเราต้องยอมรับว่าจิตเป็นสิ่งที่มีอยู่ จริง ทั้งนี้เพื่อให้ความคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จิตซึ่งประกอบด้วยกระแสแห่งความคิดชนิดต่างๆ (เจตสิก) เป็นสิ่งแท้จริงเพียงประการเดียว ดังนั้นหากจะกล่าวไปแล้ว ก็คงถือได้ว่านิกายโยคาจาร จัดว่าเป็นปรัชญาคำสอนฝ่ายอภิธรรมของมหายานที่ดูจะใกล้เคียงกับหลักคำสอนใน การปฏิบัติของฝ่ายเถรวาทมากที่สุด โดยเฉพาะข้อความในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทที่ว่า "โลกอันจิตนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต"

ที่มา : http://historyofbuddhism-mbu-watkomet.blogspot.com/2011/05/10.html

การอุบัติขึ้นของมหายาน

อาจริยวาท หรือ มหายาน เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มองโกเลีย ไปจนถึงบางส่วนของรัสเซีย จุดเด่นของนิกายนี้อยู่ที่แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่พระนิพพาน ด้วยเหตุที่มีผู้นับถืออยู่มากในประเทศแถบเหนือจึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า อุตตรนิกาย ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของโลกเป็นผู้นับถือนิกายมหายาน

ความหมายของมหายาน
มหายาน (สันสกฤต : महायान) มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต มหา + ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยการเปรียบเทียบ จากคำว่า หีนยาน ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เล็ก ๆ มหายานยังมีความหมายว่า ยานที่สูงสุดตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่และสูงสุดเท่านั้น หากเป็นยานที่รื้อขนสรรพสัตว์ได้ทุกประเภททุกวัย รวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนาม เพื่อไปสู่พระนิพพาน และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


คำว่า มหายาน จึงเป็นการเปรียบเทียบหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุน ปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายความหมายของมหายานไว้ว่า พระ พุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย อันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งเพียงความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นด้วย แต่ฝ่ายมหายานย่อมมีอุคมคติตรงกันข้าม กล่าวคือ ย่อมมุ่งพุทธภูมิมีปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธะเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จน หมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปมุ่งแต่อรหัตภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานย่อมมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีอีกชื่อว่า โพธิสัตวยาน หรือ พุทธยาน


ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ได้อธิบายความหมายของมหายานว่า ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจาก พระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญ มีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า มหายาน


นอกจากนี้ พระนาคารชุนได้กล่าวไว้ในทวาทศนิกายศาสตร์อีกว่ามหายานคือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหายาน' พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่ง ทรงอาศัยซึ่งยานนี้ และยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหา' และอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวง มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา'”


นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อความที่ยกย่องมหายานอีกเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ของมหายาน เช่นเรียกว่า อนุตรยาน (ยานอันสูงสุด) , โพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) , พุทธยาน (ยานของพระพุทธเจ้า) , เอกยาน (ยานอันเอก) เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่า ยาน ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นดั่งคำเปรียบเปรยของมรรควิถีอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ยานในพระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น 3 (ตามมติฝ่ายมหายาน) คือ
1.สาวกยาน คือยานของพระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
2.ปัจเจกยาน คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
3.โพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม


พัฒนาการของพุทธศาสนามหายาน

พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าและพุทธเกษตรในคติมหายาน
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน พระสาวกผู้ได้เคยสดับสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ใช้เวลาสอบทานอยู่ 7 เดือน จึงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก คำสอนที่ลงมติกันไว้ในครั้งปฐมสังคายนาและได้นับถือกันสืบมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการโดยพระเถระ คำว่า เถระ ในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก และพระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าว เรียกว่า นิกายเถรวาท อันหมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ และเนื้อความที่ท่านสังคายนาไว้โดยเคร่งครัด ตลอดจนรักษาแม้แต่ตัวภาษาดั้งเดิมคือภาษาบาลี[1]
ในกาลต่อมาต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เกิดการสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด อย่างไรก็ตาม การสังคายนาแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดในหมู่สงฆ์ จนก่อให้เกิดการแยกฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในส่วนหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ


กล่าวกันว่า มูลเหตุของการแยกนิกายในพุทธศาสนามาจากในคราวใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้ (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) พุทธดำรัสดังกล่าวไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้เกิดมีปัญหาในการตีความว่า สิกขาบทไหนเรียกว่าเล็กน้อย เป็นเหตุให้พระภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งหลัง ๆ อีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้มีกลุ่มที่แยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เป็นการแตกแยกทางลัทธิและนิกาย แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกศาสนาแต่ประการใด


หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 100 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ได้มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า มหาสังฆิกะ ซึ่งมีจำนวนมาก ได้แยกตนออกไปต่างหากจากกลุ่มเถรวาทเดิม การแยกตัวของมหาสังฆิกะนี้มีมูลเหตุจากความเห็นที่แตกต่างเรื่องหลักปฏิบัติ ของภิกษุ หลังจากนั้นมหาสังฆิกะได้แยกกลุ่มนิกายย่อยออกไปอีก 18 นิกาย เนื่องจากมีทัศนะ อุดมคติ การตีความหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นภิกษุบางรูปในนิกายทั้ง 18 นี้ ได้แยกตนออกมาตั้งคณะใหม่โดยถือปรัชญาและหลักจริยวัตรของตน กระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 5 จึงได้เกิดกลุ่มคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ที่เรียกตนเองว่า "มหายาน" ขึ้น แม้จะมีที่มาไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าพัฒนาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพุทธศาสนาอื่นทั้ง 18 นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดเป็นลัทธิมหายาน


แม้ไม่อาจกำหนดให้แน่ชัดลงไปได้ว่า พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่แน่ชัดคือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์กุษาณะ (ศตวรรษที่ 1 แห่งคริสต์ศักราช) ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์แรกของนิกายมหายาน ได้ทรงปลูกฝังพระพุทธศาสนามหายานอย่างมั่นคงในราชอาณาจักรของพระองค์ และทรงส่งธรรมทูตออกเผยแพร่ยังนานาประเทศ เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราชของฝ่ายเถรวาท
แนวคิดเรื่องตรีกาย


หลักการสำคัญประการหนึ่งของมหายานอยู่ที่หลักเรื่อง ตรีกาย อันหมายถึงพระกายทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า ในกายตรัยสูตรของมหายาน พระอานนท์ทูลถามถึงเรื่องพระกายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตถาคตมีกายเป็น 3 สภาวะคือตรีกาย อันได้แก่
  • นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา
  • สัมโภคกาย หมายถึง กายแห่งความบันเทิง มีลักษณะเป็นทิพยภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
  • ธรรมกาย หมายถึง กายแท้จริงอันเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์


มหายานชั้นแรกดูเหมือนจะมีทัศนะตรงกับเถรวาทที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระกายเพียง 2 เท่านั้นคือ ธรรมกาย และ นิรมานกาย ธรรมกายนั้นมีพระพุทธวจนะที่ตรัสโดยตรงในบาลีอัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกาย ส่วนนิรมาณกายนั้นได้แก่พระกายของพระศาสดาที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 ในคัมภีร์ฝ่ายมาธยมิกชั้นแรก ก็ยังไม่พบกายที่ 3 ธรรมกาย ตามนัยแห่งเถรวาทหมายถึงพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ มหายานได้สร้างแนวความคิดตรีกายขึ้นด้วยวิธีเพิ่มกายอีกกายหนึ่งเข้าไป คือ สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายของพระพุทธองค์อันสำแดงปรากฏให้เห็นเฉพาะหมู่ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ เป็นทิพยภาวะมีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป เพราะฉะนั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังอาจจะเห็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ในรูปสัมโภคกาย พระพุทธองค์ยังทรงอาจสดับคำสวดมนต์ต์ของเรา แม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ดี ทั้งนี้ก็ด้วยการดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงการสำแดงให้เห็นปรากฏในรูป นิรมานกายเท่านั้น ส่วน ธรรมกาย นั้น ก็เป็นสภาวะอมตะ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด แผ่คลุมอยู่ทั่วไป ความคิดเรื่องสัมโภคกายนี้ มหายานได้รับจากนิกายมหาสังฆิกะ และในหมู่คณาจารย์ของมหายานก็ไม่มีความเห็นพ้องกันในเรื่องนี้

อันที่จริง พระพุทธองค์มิใช่มีถึง 3 กาย คงมีแต่เพียงกายเดียว ตรีกายนั้นเป็นเพียงลักษณะของพระพุทธเท่านั้น ถ้ากล่าวตามทัศนะในแง่ความสมบูรณ์ ความเป็นสากล พระองค์ก็คือธรรมกายอันสูงล้ำ หรือถ้ามองจากทัศนะความเป็นอุดมคติ พระองค์ก็คือสัมโภคกายผู้สั่งสอนพระโพธิสัตว์ และช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ในการทำงานปลดเปลื้องสรรพสัตว์จากกองทุกข์ อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามทัศนะนิรมานกายพระองค์คือพระศากยมุนีผู้ประสูติ ณ สวนลุมพินี ได้ตรัสรู้สัจธรรม ภายใต้ต้นโพธิ์ และดับขันธปรินิพพาน เมื่อได้เผยแผ่พระพุทธธรรมตามพระปณิธานที่ได้ตั้งไว้ พระศากยมุนีนั้น มิใช่เป็นการสำแดงรูปของธรรมกายในรูปนิรมาณกายพุทธ เพราะการสำแดงรูปนิรมานกายนั้นมีมากหลาย ดุจมีบุคคลอุดมคติมากหลายของสัมโภคกาย แต่ธรรมกายพุทธที่สมบูรณ์นั้นมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว

มหาปณิธาน 4
นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว พระโพธิสัตว์ยังต้องมีมหาปณิธานอีก 4 ซึ่งถือเป็นหลักการของผู้ดำเนินตามวิถีมหายาน ดังนี้
1.เราจะละกิเลสทั้งปวงให้สิ้น
2.เราจะศึกษาพระธรรมให้เจนจบ
3.เราจะโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความตรัสรู้
4.เราจะต้องบรรลุพุทธภูมิอันประเสริฐ


จุดมุ่งหมายของมหายาน
หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละ นิกายยอมรับนับถือ มหายานทุกนิกายย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน เพราะฉะนั้น จึงถือว่าโพธิสัตวภูมิเป็นเหตุ พุทธภูมิเป็นผล เมื่อบรรลุพุทธภูมิเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมโปรดสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้น ได้กว้างขวาง และขณะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ยังสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ในสังสารวัฏได้มากมาย อุดมคติอันเป็นจุดหมายสูงสุดของมหายานจึงอยู่ที่การบำเพ็ญบารมีตามแนวทางพระ โพธิสัตว์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์สู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารให้หมดสิ้น

คัมภีร์ของมหายาน

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมิได้ปฏิเสธ พระไตรปิฎกดั้งเดิม หากแต่ถือว่าอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเกิดมีแนวคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกุตรสภาวะ ไม่อาจดับสูญ ที่ชาวโลกคิดว่าพระพุทธองค์ดับสูญไปแล้วนั้นเป็นเพียงภาพมายาของรูปขันธ์ แต่พระธรรมกายอันเป็นสภาวธรรมของพระองค์เป็นธาตุพุทธะบริสุทธิ์ยังดำรงอยู่ต่อไป มหายานถือว่ามนุษย์ทุกคนมี พุทธธาตุ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หากมีกิเลสอวิชชาบดบังธาตุพุทธะจึงไม่ปรากฏ หากกิเลสอวิชชาเบาบางลงเท่าใดธาตุพุทธะก็จะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น มหายานมีแนวคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ และสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ หากฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยบารมีทั้ง 10 ประการ พระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานจึงมีมากมาย แม้พระพุทธเจ้าก็มีปริมาณที่ไม่อาจคาดคำนวณได้ และพระโพธิสัตว์ทุกองค์ย่อมโปรดสรรพสัตว์เช่นเดียวกับจริยาของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก ในพุทธศาสนามหายานจึงมีคัมภีร์สำคัญระดับเดียวกับพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นเป็น อันมาก เพื่อให้เหมาะสมกับจริตและอินทรีย์ของสรรพสัตว์แต่ละจำพวก อีกทั้งเพื่อเป็นกุศโลบายในการสั่งสอนพุทธธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อเจตจำนงจะเกื้อกูลสรรพชีวิตทั้งมวลให้ถึงพุทธรรมและบรรลุความ หลุดพ้นจากสังสารวัฏ คัมภีร์ของมหายานดั้งเดิมเขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่สันสกฤตแท้ หากเป็นภาษาสันสกฤตที่ปะปนกับภาษาปรากฤตตลอดจนบาลีและ ภาษาท้องถิ่นอื่นๆ เรียกว่าภาษาสันสกฤตทางพุทธศาสนา คัมภีร์เหล่านี้กล่าวในฐานะเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าบ้าง คำสอนพระโพธิสัตว์บ้าง หรือแม้แต่ทวยเทพต่างๆ โดยมีเนื้อหาหลากหลาย สันนิษฐานว่าพระสูตรปรัชญาปารมิตา เป็นพระสูตรมหายานรุ่นเก่าที่สุด และได้มีการเขียนพระสูตรขึ้นต่อมาอีกอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยคุปตะ พระสูตรบางเรื่องก็เกิดขึ้นในประเทศจีน และในหมู่คณาจารย์ของมหายานเองก็เขียนคัมภีร์ที่แสดงหลักปรัชญาอันลึกซึ้ง ของตน เรียกว่าศาสตร์ซึ่งเทียบได้กับอภิธรรมของฝ่ายเถรวาท ที่มีชื่อเสียงคือ มาธยมกศาสตร์, โยคาจารภูมิศาสตร์, อภิธรรมโกศศาสตร์, มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ในประเทศต่างๆ ที่นับถือมหายาน ก็มีการรจนาคัมภีร์ขึ้นเพื่อสั่งสอนหลักการของตนเองอีกเป็นอันมาก คัมภีร์ของมหายานจึงมีมากมายเท่าๆกับความหลากหลายและการแตกแยกทางความคิดใน หมู่นักปราชญ์ของมหายาน


นิกายมหายานเคารพในพระธรรมซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และเคารพในพระไตรปิฎกเช่นเดียวกับเถรวาท จึงมิได้ปฏิเสธพระไตรปิฎก หากแต่ถือว่ายังไม่พอ เนื่องจากเกิดสำนึกร่วมขึ้นมาว่า นามและรูปของพระพุทธองค์เป็น โลกุตตระ ไม่อาจดับสูญ สิ่งที่ดับสูญไปนั้นเป็นเพียงภาพมายา พระธรรมกาย ซึ่งเป็นธาตุอันบริสุทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไป


มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะร่วมกับพระพุทธเจ้า ถ้ามีกิเลสมาบดบังธาตุพุทธะก็ไม่ปรากฏ มนุษย์ทุกคนจึงมีศักยภาพที่จะ เป็นพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ถ้าได้รับการฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ พระโพธิสัตว์จึงมีจำนวน มหาศาล และมีหน้าที่ส่งเสริมงานของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก ด้วยสำนึก เช่นนี้ ฝ่ายมหายานจึงมีคัมภีร์เกิดขึ้นมากมาย และให้ความเคารพเทียบเท่าพระไตรปิฎก


พระวินัยปิฎกมหายาน
แม้นว่ามหายานจะมีทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม แต่พระวินัยของมหายานนั้น นอกจากจะมี 250 ข้อแล้ว ยังไม่ได้เป็นหมวดหมู่แบบเถรวาท สังฆกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายมหายานต้องใช้คัมภีร์วินัยของสรวาสติวาท ธรรมคุปตะ มหาสังฆิกะ และมหิศาสกะ


การบำเพ็ญบารมี (ทศปารมิตา)
โพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ผู้บำเพ็ญบารมีธรรม ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม หลักพระโพธิสัตวยานนั้น ถือว่าจะต้องโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นทุกข์เสียก่อนแล้วตัวเราค่อยหลุดพ้น ทุกข์ทีหลัง คือจะต้องชักพาให้สัตว์โลกอื่น ๆ ให้พ้นไปเสียก่อน ส่วนตัวเราเป็นคนสุดท้ายที่จะหลุดพ้นไป เป็นหลักแห่งโพธิสัตวยาน ซึ่งพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญ ทศปารมิตา คือบารมี 10 ของฝ่ายมหายาน ได้แก่
  • ทานปารมิตา หรือ ทานบารมี
  • ศีลปารมิตา หรือ ศีลบารมี
  • กฺษานฺติปารมิตา หรือ ขันติบารมี
  • วีรฺยปารมิตา หรือ วิริยบารมี
  • ธฺยานปารมิตา หรือ ฌานบารมี
  • ปฺรชฺญาปารมิตา หรือ ปัญญาบารมี
  • อุปายปารมิตา หรืออุบายบารมี
  • ปฺรณิธานปารมิตา หรือประณิธานบารมี
  • พลปารมิตา หรือ พลบารมี
  • ชฺญานปารมิตา หรือ ญาณบารมี

นิกายย่อยของมหายาน
พุทธศาสนามหายานแตกเป็นนิกายย่อยๆต่างกันไปในแต่ละประเทศดังนี้
มหายานในประเทศไทย
ที่มา : http://historyofbuddhism-mbu-watkomet.blogspot.com/2011/05/9.html

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือตะวันออกกลาง ประกอบด้วยอะนาโตเลีย (Anatolia)  หมายถึง เอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) เป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นเอเชียของประเทศตุรกี ประเทศที่เป็นเกาะคือ ไซปรัส ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดินแดนในตะวันออกใกล้ ได้แก่ ประเทศซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน และอิรัก ดินแดนในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน เยเมน อาจรวมถึงคูเวต อิหร่านและอัฟกานิสถาน ปัจจุบันตะวันออกกลางเป็นถิ่นมุสลิม สำหรับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในดินแดนแห่งนี้ จะกล่าวถึงประเทศอัฟกานิสถานเพียงประเทศเดียว เพราะมีหลักฐานเด่นชัดว่าพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาก่อน    
ประเทศอัฟกานิสถาน 


ประเทศอัฟกานิสถานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Republic of Afghanistan) มีเมืองหลวงชื่อ คาบูล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 31,056,997 คน (พ.ศ.2549) ชาวอัฟกานิสถานในปัจจุบันส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามคือ 98% เป็นนิกายสุหนี่ 83.2% นิกายชีอะห์ 14.9% นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ 1.4% ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู 0.4% และศาสนาคริสต์ 0.1%

อัฟกานิสถานเป็นที่รู้จักของชาวพุทธไปทั่วโลก เมื่อครั้งที่กลุ่มตาลิบัน (Taliban) ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้ทำลายพระพุทธรูปยืนโบราณสององค์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 ท่ามกลางการประณามของยูเนสโก และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก  พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูง 53 เมตร และองค์เล็กกว่าสูง 38 เมตร มีอายุประมาณ 2,000 ปี แกะสลักอยู่บนหน้าผาในเมืองบามิยัน ทางภาคกลางของอัฟกานิสถาน 

แม้อัฟกานิสถานในปัจจุบันจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  แต่ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี และยังเป็นเส้นทาง ผ่านของพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปสู่เอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลียอีกด้วย   พระสงฆ์จากเอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมองโกเลีย ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้ามาแสวงบุญในอินเดีย ซึ่งเรียกเส้นทางสายนี้ว่า เส้นทางสายไหม นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเป็นทางผ่านของหลายอารยธรรม เช่น กรีก อิหร่าน เปอร์เซียอีกด้วย
 
พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอัฟกานิสถาน เพราะโบราณสถานจำนวนมากทั่วประเทศเป็นของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เมืองบามิยัน จาลาลาบาด กันทาหาร์และกาซมี ในสมัยพุทธกาลเรียกดินแดนของอัฟกานิสถานนี้ว่า แคว้นคันธาระ และ กัมโพชะ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่า แคว้นโยนก หรือเยาวนะ ส่วนในสมัยพระถังซัมจั๋งเรียกดินแดนแถบนี้ว่า แคว้นอุทยาน แคว้นคันธาระ และแคว้นกปิศะ เป็นต้น
 
พระพุทธศาสนาเข้าไปในอัฟกานิสถานตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือเมื่อคราวที่สองพ่อค้า  ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้พบพระพุทธองค์และประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะ ก่อนกลับพ่อค้าทั้งสองขอเส้นพระเกศาไปประดิษฐานในพระเจดีย์ที่แคว้นอุทยาน ซึ่งอยู่ในเขตของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้พระเจ้าปุกกุสาติแห่งนครตักสิลา ก็เป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์ จึงทำให้พระองค์เป็นพุทธมามกะด้วย และเนื่องจากเมืองตักสิลาในอดีต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน จึงทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่อัฟกานิสถานอีกเส้นทางหนึ่ง
 
พระพุทธศาสนาแถบนี้รุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (King Ashoka) ในครั้งนั้น พระมัชฌันติกเถระและคณะได้นำศาสนาพุทธมาเผยแผ่ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองมถุราและเมืองกิปิน (Kipin) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแก่ชนพื้นเมือง 

ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ (King Milinda) หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือชื่อในภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) ทรงเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองราชย์ราวปี พ.ศ. 500 เศษ อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมพื้นที่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ ทิศใต้ของอุซเบกิสถาน และบางส่วนของอิหร่าน ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองใน    ดินแดนแห่งนี้ และยุคนี้มีพระพุทธปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก โดยสกุลช่างคันธาระ (Gandhara Style) อันเป็นการผสมผสานของอารยธรรมกรีก โรมัน และแนวคิดพระพุทธศาสนา
 
ในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช (King Kanishka : พ.ศ.621 - 644) อาณาเขตของพระองค์ครอบคลุมแม่น้ำกาบูลของอัฟกานิสถาน คันธาระ สินธุ์ของปากีสถาน กัศมีร์  (แคชเมียร์) รัฐมัธยมประเทศของอินเดีย รวมถึงสาธารณรัฐในเอเชียกลางบางประเทศ พระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงให้ความอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 แม้ว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่ยอมรับ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และได้เผยแผ่ไปทั่วเอเชียกลาง อิหร่านบางส่วน จีนและเกาหลี 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอัฟกานิสถานอย่างเต็มตัวในสมัย พระเจ้ากนิษกมหาราช ทั่วทั้งประเทศมีการสร้างพุทธสถานขึ้นมามากมาย พระสงฆ์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีหลายรูปจาริกไปเผยแผ่ในเอเชียกลางด้วย ต่อมาที่หุบเขาบามิยัน (Bamiyan) มีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่และเล็กขึ้นที่หน้าผาสูงชัน แต่ละองค์ใช้เวลาสร้างไม่น้อยกว่า   200 ปี และมีการขุดเจาะถ้ำขึ้นตามหน้าผามากมายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์
 
เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างอาหรับกับอินเดีย และเป็นทางผ่านไปสู่จีน จึงถูกรุกรานจากศัตรูอยู่เสมอ เช่น กรีก มองโกล ฮั่นขาว อาหรับ อังกฤษ และโซเวียต เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพมุสลิมอาหรับ ได้ทำลายพุทธสถานอย่างหนัก บังคับผู้คนให้นับถือศาสนาอิสลาม ในปี พ.ศ.1252 กษัตริย์แห่งหุบเขาบามิยันและผู้ปกครองเมืองอื่นๆจึงต้องจำยอมเปลี่ยนศาสนา เพื่อความอยู่รอด เมื่อผู้นำหันไปนับถืออิสลาม จึงทำให้สถานการณ์พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมลงอย่างหนัก  หลังการยึดครองของมุสลิมล่วงไปเพียง 100 ปี  อัฟกานิสถานก็กลายเป็นประเทศที่ปราศจากพระสงฆ์โดยสิ้นเชิง สังฆารามมากกว่า 3,000 แห่งตามรายงานของพระถังซัมจั๋งเหลือแต่ซากโบราณสถานเท่านั้น ในปัจจุบันอัฟกานิสถาน  จึงมีชื่อว่า สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน

ที่มา : http://historyofbuddhism-mbu-watkomet.blogspot.com/2011/05/14.html

การขยายตัวของมหายานในอินเดีย

พุทธศาสนามหายานใน อินเดีย ได้รับการสนับสนุนโดย ราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดย ราชวงศ์คุปตะ มีการสร้าง...